วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

อิสลามศาสนาแห่งสันติ หรือสงคราม?


อิสลามศาสนาแห่งสันติ หรือสงคราม?

ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงเวลานี้ มนุษยชาติได้ผ่านช่วงเวลาหลายยุคหลายสมัย มีการพัฒนามุ่งสู่การมีอารยธรรมที่ดีตลอดมา ทว่ามีปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาตลอดทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน ปัญหานั้นก็คือ "สงคราม" นับแต่วันแรกที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ สงครามก็ได้อยู่คู่กับมนุษยชาติตั้งแต่วันนั้นและจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน ตราบใดที่มนุษยชาติยังไม่รู้จักเพียงพอต่อความต้องการของตนเอง หรือ เรียกอีกอย่างว่า เห็นแก่ตัว และไม่เข้าใจคำว่า "สันติ" อย่างแท้จริง

สงครามต่างๆ ในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีมากมาย อาทิเช่น สงครามครูเสดในยุคกลางซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานกว่าสองศตวรรษ สงครามนิกายของชาวคริสเตียนที่ยาวนานถึงสามสิบปีระหว่างคาทอลิก และโปรแตสแตนท์ สงครามจักรวรรดิอุษมานีย์ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี สงครามอาหรับและอิสราเอล สงครามอินเดียและปากีสถาน สงครามอิรักและอิหร่าน สงครามอิรักและคูเวต สงครามสหรัฐและอัฟกานิสถาน สงครามสหรัฐและอิรัก และอีกหลายๆ สงครามทั้งเล็กและใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ยังไม่พูดถึงสงครามไทยกับพม่าอีกนะครับ

สงครามต่างๆ เหล่านั้นชี้ให้เราเห็นว่ามนุษยชาติไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงสงครามได้ สงครามจะเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนไม่โดยทางตรง ก็ทางอ้อม เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่เห็นอย่างชัดเจนว่าสงครามอยู่คู่กับมนุษย์ ก็คือการตระเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ ในปัจเจกบุคคล จนกระทั่งรัฐบาลของแต่ละประเทศ การตระเตรียมอาวุธไว้อย่างมากมายของแต่ละประเทศ เพื่อสิ่งใดหรือ หากไม่ใช่เพื่อการเข้าร่วมสงคราม ดังนั้นสงครามจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่ในวีถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่มีมนุษย์คนใดปฏิเสธได้

ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในซอยสุขุมวิท 71 เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เป็นระฆังลูกใหญ่ที่ส่งเสียงให้ประชาชนชาวไทยผู้รักสันติได้รู้ว่า "สงคราม" มีอยู่จริงไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทว่าปัญหามันอยู่ที่ว่าผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากันขณะนี้ คือมุสลิมและยิวไซออนิสต์ จึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายในหมู่พี่น้องชาวไทยว่า แล้วสองฝ่ายนี้มาทำสงครามกันในประเทศไทยทำไม? คำตอบตรงนั้นผมไม่ขอพูดถึง ไว้เป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์จะเหมาะสมกว่า

ทว่ามีอีกคำถามหนึ่งตอนนี้ซึ่งพี่น้องชาวไทยได้ตั้งคำถามขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์เฟสบุ๊ค หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ กรณีที่ชาวอิหร่านเป็นคนก่อเหตุ การประกาศที่จะตอบโต้ทำสงครามกับยิวของผู้นำอิหร่าน ผู้นำฮิซบุลลอฮ์ ฯลฯ เหล่านี้กำลังชี้ให้เห็นว่าคนมุสลิมกำลังจุดไฟสงครามให้เกิดขึ้น จึงเกิดคำถามในหมู่พี่น้องชาวไทยว่า "ตกลงไหนบอกว่าอิสลามคือศาสนาแห่งสันติ?" "อิสลามแปลว่าสันติไม่ใช่หรือ?"

และอีกหลายๆ คำถาม ซึ่งผู้เขียนใคร่จะนำคำถามต่างๆ เหล่านั้นมาตอบแก่พี่น้องชาวไทยทุกคนในบทความนี้ ดังต่อไปนี้

คำถาม : "อิสลาม" ศาสนาแห่งสันติ หรือสงคราม?

ตอบ : อิสลามคือศาสนาแห่งสันติ มีพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่พระองค์ทรงตรัสว่า "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเข้าไปอยู่ในความสันติเถิด (อัลบะกอเราะฮ์โอการที่ 208)"
และในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า "และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตาม (อัลอัมฟาลโองการที่ 61)"
สองโองการข้างต้นที่เป็นพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าแก่มวลมุสลิมทั้งผองพอที่จะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า อิสลามคือศาสนาแห่งสันติ ไม่ใช่ศาสนาที่กระหายสงคราม

เมื่อผมตอบแล้วผมอยากจะถามท่านกลับว่า ท่านซึ่งไม่ได้เป็นมุสลิม แต่ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่รักในความสันติไม่แตกต่างอะไรกับพี่น้องมุสลิม ในกรณีที่ท่านต้องใช้ชีวิตเผชิญอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่กดขี่ ผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการ หรือในกรณีที่ญาติพี่น้องของท่านกำลังถูกผู้อื่นกดขี่รีดนาทาเร้น ฯลฯ ถามว่าท่านจะวางตัวเช่นไร ถามว่าท่านจะนิ่งดูดายไม่สนใจใดๆ ต่อสถานการณ์เช่นนั้น เพราะท่านคือผู้รักสันติอย่างนั้นหรือ?

แต่ในอิสลาม เมื่อมุสลิมต้องเผชิญหน้ากับบรรดาผู้กดขี่ ผู้ลิดรอนสิทธิ มุสลิมจะไม่มีวันโอนอ่อนตาม และไม่มีวันทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือยอมให้เขากดขี่ และลิดรอนสิทธิ แม้กระทั่งพี่น้องมุสลิมด้วยกันเมื่อรู้ว่าพวกเขากำลังถูกรุกราน ถูกรังแก ถูกดกขี่ เป็นภารกิจทางศาสนาที่มวลมุสลิมจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า "ดังนั้นผู้ใดละเมิดต่อพวกเจ้าก็จงละเมิดต่อเขาเยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเจ้า (อัลบะกอเราะฮ์โองการที่ 194)"

และในอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า "สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกโจมตีนั้น ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขากำลังถูกกดขี่ข่มเหงและแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน (อัลฮัจญ์โองการที่ 39)"

และอีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า "และหากพวกเจ้าจะลงโทษ (ฝ่ายปรปักษ์) ก็จงลงโทษเยี่ยงที่พวกเจ้าได้รับโทษเท่านั้น (อัลนะฮ์ลฺโอการที่ 126)"

สรุปแล้ว ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ ไม่ใช่ศาสนาแห่งสงคราม แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมุสลิมคนใดก็ตามถูกกดขี่ ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกรุกราน ถูกรังแก มุสลิมจะต้องลุกขึ้นต่อสู้กับผู้กดขี่ ผู้รุกรานเหล่านั้น รวมถึงช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมที่กำลังถูกกดขี่ ถูกรุกรานอีกด้วย อิสลามไม่อนุญาตให้กดขี่ผู้ใด ในขณะเดียวกันก็ไม่อนุญาตให้นิ่งเฉยต่อการถูกกดขี่

ท่านอาจจะถามต่อไปอีกว่า ในประวัติศาสตร์อิสลามท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ทำสงครามอย่างมากมายกับผู้ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า การทำสงครามเหล่านั้นมุสลิมจะอธิบายว่าอยางไร?

ผมขอตอบว่า การทำสงครามของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ ล้วนเป็นการปกป้อง พิทักษ์ ศาสนา ต่อต้านการรุกราน การกดขี่ และขจัดความชั่วร้ายบนหน้าแผ่นดินเท่านั้น ไม่มีสงครามใดของศาสดามุฮัมมัด (ศ) และสงครามของมุสลิมกลุ่มใด ที่จะเป็นการก่อสงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจ แย่งชิงผืนแผ่นดินของผู้ใด สงครามของมวลมุสลิมจึงเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ต่อต้านการรุกราน การกดขี่ การลิดรอนสิทธิ และการขจัดความชั่วร้ายเท่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของศาสนาอิสลามเหนือมวลมุสลิมทั้งปวง
และคอยติดตามเรื่อง "สงครามในทัศนะของอิสลาม" "สันติในทัศนะของอิสลาม" และ "สันติคือจิตใต้สำนึกของมนุษย์" ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปในโอกาสหน้า.... ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

โดย เชคมาลีกี ภักดี

ความรักในอิสลาม


ความรักในอิสลาม
14 กุมภาพันธ์ คือวันแห่งความรัก ที่ทั่วทั้งโลกจะให้ความสำคัญกับวันแห่งความรักนี้ คือวันวาเลนไทน์ อะฮ์ลุลบัยต์ ดอทโออาร์จี จึงใคร่นำเสนอเรื่องความรักในทัศนะของอิสลาม ว่าจริงๆ แล้วความรักที่แท้จริง ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์โหยหาอยู่ลึกๆ ภายในนั้นคืออะไร ความรักที่เป็นนิรันดร เป็นรากฐานแห่งการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบในทุกๆ สังคม และจะนำมาซึ่งความผาสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า คือความรักแบบไหน
แนวคิดเกี่ยวกับความรักเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในอิสลาม ข้อเท็จจริงนี้แสดงเห็นได้ชัดเจนในหลักปรัชญาของอิสลาม หลักศาสนา หลักความเร้นลับ และหลักศีลธรรม ในบางแง่มุมความรักมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกำหนดทัศนคติของอิสลามในความสัมพันธ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้าและจักรวาล และโดยเฉพาะระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์
ความรักคือสิ่งสำคัญอย่างลึกซึ้ง ความรักคือหัวใจหลักของอิสลามจนนับว่าเป็น "การยึดถือศาสนาอย่างมั่นคงที่สุด" และ "ความศรัทธาหาใช่อื่นใดไม่ นอกจากการมีความรักเพื่อพระผู้เป็นเจ้า และเกลียดเพื่อพระผู้เป็นเจ้า"
อิบนฺ อับบาส ได้รายงานว่า ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ(ศ.) ได้กล่าวว่า "ความศรัทธาที่เข้มแข็งที่สุดคือความจริงใจเพื่ออัลลอฮฺ การเกลียดเพื่ออัลลอฮฺ(ตะบัรรอ) การรักเพื่ออัลลอฮฺ(ตะวัลลา) และการละทิ้งเพื่ออัลลอฮฺ"
คนมักจะคิดกันว่าเราไม่ควรมีความเกลียดชังเลย คนเหล่านี้คิดเอาว่าบุคลิกภาพที่ดีเลิศประเสริฐศรีและ "การมีไมตรีจิต" คือการถือว่ามนุษย์ทุกคนคือเพื่อนของเรา แน่นอนว่าอิสลามได้สอนให้มุสลิมมีความรัก และมีความเมตตาด้วยความจริงใจต่อพวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ศรัทธาในอิสลาม และพระผู้เป็นเจ้าก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้มีหลักศีลธรรม และอุทิศชีวิตจิตใจเพื่อค้นหาคุณค่าที่สูงส่งนั้นจะไม่ใส่ใจต่อความชั่วร้าย และการกระทำที่กดขี่ของผู้กระทำผิดจนถึงขนาดผูกมิตร และรักใคร่กับพวกเขาได้ทุกคน บุคคลเช่นนั้นย่อมจะต้องมีศัตรูอย่างแน่นอน ไม่ว่าเขาจะชอบหรือไม่ก็ตาม ในสังคมจะมีทั้งคนดี และคนเลวอยู่ด้วยเสมอ ความดี และความชั่วเป็นสองขั้วที่ตรงข้ามกัน การดึงดูดเข้าหาความดีจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ถูกผลักใสจากความชั่ว
เมื่อมนุษย์สองคนมีความสนใจดึงดูดซึ่งกันและกัน และหัวใจของพวกเขาก็เรียกร้องที่จะผูกมิตร และร่วมทางกัน เราควรมองดูเหตุผลสำหรับเรื่องนั้น เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความเหมือน และคล้ายคลึงกัน ถ้าหากไม่มีความเหมือนกันระหว่างบุคคลทั้งสอง พวกเขาก็จะไม่ดึงดูดซึ่งกันและกัน และไม่อยากเป็นมิตรกัน เช่นเดียวกับนกที่เรียกฝูงของมัน นกชนิดเดียวกันก็จะบินตามกันไป
ฟูดัยล์ อิบบนฺ ยาซิร ลูกศิษย์คนหนึ่งของอิมามญะอฺฟัร ศอดิก (อ.) ได้ถามท่านอิมามว่า "ความรัก และความเกลียดชังเกิดมาจากความศรัทธาใช่ไหม? ท่านตอบว่า "ความศรัทธาคือสิ่งอื่นใดนอกจากความรัก และความเกลียดชังหรือ?"


อิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) กล่าวว่า "ศาสนา (ดีน) คือความรัก และความรัก คือศาสนา"
คำกล่าวและคำสอนเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความรักมีบทบาทสำคัญ และมีความหมาย ดังนั้นเราจึงควรให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริงของความรักในอิสลาม
บางคำถามอาจเกิดขึ้นในหัวใจ ความรักแบบไหนที่อิสลามได้เน้นย้ำเอาไว้? ใครควรได้รับความรักที่พิเศษเช่นนี้? ทำไมผู้ศรัทธาจึงต้องมีความรักแบบนี้ และมีไว้เพื่อจุดมุ่งหมายใด?
ในอิสลาม ความรักสามารถจำแนกได้อย่างกว้างๆ ดังนี้คือ
1- ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า
2-ความรักต่อศาสดามุฮัมมัดและวงศ์วานอะฮฺลุลบัยตฺ(สมาชิกครอบครัว)ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) 
3-ความรักต่อผู้ศรัทธา

ความรักต่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.)  ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าคือรากฐานของความศรัทธาในอิสลาม
อิมามอะลี (อ.) มักจะใช้เวลาอยู่กับลูกๆ ของท่านเสมอ ครั้งหนึ่งท่านนั่งอยู่ในบ้านพร้อมกับลูกๆ ของท่าน ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ถามท่านว่า "พ่อจ๋า พ่อรักหนูไหม?" อิมามอะลี(อ.) ตอบว่า "รักสิลูก ลูกๆ ของพ่อเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของหัวใจพ่อ" เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านหญิงกซัยนับ (อ.) กล่าวว่า "พ่อรักอัลลอฮฺด้วย ความรักสองอย่างจะอยู่ในหัวใจของผู้ศรัทธาได้อย่างไร ความรักต่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.) และความรักต่อลูกๆ?"
อิมามอะลี(อ.) ยิ้มแล้วตอบว่า "รักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรักในสิ่งที่อัลลอฮฺรักด้วย พระองค์รักสิ่งที่พระองค์สร้าง คือเด็กๆ และผู้ปฏิบัติตามพระองค์ด้วยเช่นกัน พ่อรักลูกเพื่ออัลลอฮฺ(ซ.บ.)"
ด้วยเหตุนี้ ความรักต่ออัลลอฮฺจึงเป็นรากฐานของความศรัทธาในอิสลาม รากฐานที่มนุษย์ต้องยึดมั่นอยู่ในหลักศรัทธาของเขา ในหัวใจดวงหนึ่งจึงไม่สามารถเลือกผู้เป็นที่รักสองคนได้
อีกตัวอย่างหนึ่งของความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระผู้เป็นเจ้าคือ อิมามฮุเซน(อ.) ผู้ซึ่งได้กล่าวว่า "โอ้อัลลอฮฺ ฉันได้ทิ้งโลกนี้ไปด้วยความรักต่อพระองค์ ฉันพร้อมที่จะทำให้ลูกๆ ของฉันเป็นกำพร้าด้วยความารักต่อพระองค์ หัวใจของฉันไม่อาจหันไปหาผู้อื่นใดนอกจากพระองค์ ถึงแม้พระองค์จะทรงสับร่างของฉันเป็นชิ้นๆ ด้วยความรักต่อพระองค์"

ทำไมต้องรักอัลลอฮฺ(ซ.บ.)?
เหตุผลที่เราต้องมีความรักต่ออัลลอฮฺนั้นก็เพราะ ประการแรกพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงคุณค่า สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง และงดงามอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้น มนุษย์ที่มีธรรมชาติในความปรารถนาต่อคุณค่า ความงดงาม และความสมบูรณ์แบบจึงมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้า
ประการที่สอง โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะรักคนที่ทำความดีให้แก่พวกเขา พวกมนุษย์จะซาบซึ้งต่อความเมตตาปรานีและความช่วยเหลือต่อพวกเขา ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวไว้ว่า "จงรักอัลลอฮฺ(ซ.บ.) เพราะพระองค์ได้ทำความดีให้แก่พวกท่าน และพระองค์ทรงประทานความเมตตาแก่พวกท่านอย่างมากมาย"
ผู้ศรัทธาที่เริ่มการเดินทางของจิตวิญญาณเพื่อไปสู่พระผู้เป็นเจ้านั้น จะต้องสำนึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้แก่เขาอย่างมากมาย ด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือในความสามารถของเขา ทำให้การเดินทางของเขาดำเนินต่อไปด้วยความสะดวก เขาจะสำนึกรู้ได้ว่าทุกๆ ความดีงามนั้นล้วนมาจากพระผู้เป็นเจ้า ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัล-กุรอาน
"ความดีใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากอัลลอฮฺ  และความชั่วใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากตัวของเจ้าเอง..." (อัล-กุรอาน 4/79)
ความรักที่แท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น จะเป็นตัวกระตุ้นให้เขากระทำความดีอย่างดีที่สุด ความมีเหตุผลและธรรมชาติกำหนดไว้ว่า ถ้าใครที่รักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงแล้ว เขาก็จะกระทำในสิ่งที่ทำให้พระผู้เป็นเจ้าพึงพอพระทัย
"จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" อัล-กุรอาน 3/31)
โองการนี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ภายในระหว่างความรัก ที่มีอยู่ภายใน และการกระทำตามแบบอย่างของศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ซึ่งเป็นการกระทำที่ปรากฏออกมา และมันยังแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาก็จะเมินเฉยต่อกฎเกณฑ์ของศาสนาไม่ได้เลย

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มุสลิมกับวันวาเลนไทน์


มุสลิมกับวาเลนไทน์




คุณค่าและการปลูกฝังความรักในอิสลามไม่ได้จำกัดวันเพียงแค่วันใดวันหนึ่ง แต่อิสลามมีหลักการและข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องความรัก เพราะความรักคือความรู้สึกที่ดีงามและเป็นความเมตตาเห็นอกเห็นใจต่อกัน การแสดงถึงความรักในอิสลามนั้น จะต้องไม่ขัดกับหลักการและอยู่บนพื้นฐานของศาสนา ดังนั้นเรื่องความรักที่อิสลามให้การส่งเสริมและให้คุณค่า ก็คือ ความรักต่ออัลเลาะฮ์ ต่อร่อซูลของพระองค์ และต่อบรรดามุสลิมทั้งหลาย
อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงตรัสว่า
“และบางส่วนจากมนุษย์ มีผู้ที่ยึดเอาสิ่งอื่นจากอัลเลาะฮ์มาเป็นคู่เคียง (กับพระองค์) พวกเขารักสิ่งเหล่านั้น ประดุจเดียวกับเขารักอัลเลาะฮ์ และบรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลายนั้น ย่อมมีความรักอันลึกซึ้งที่สุดต่ออัลเลาะฮ์” [อัลบะก่อเราะฮ์: 16]
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า
“พวกท่านจงรักอัลเลาะฮ์ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้กับพวกท่าน จากบรรดาสิ่งอำนวยสุขต่างๆ ของพระองค์ และพวกท่านจงรักฉันเนื่องจากความรักของอัลเลาะฮ์ที่มีต่อฉัน” (รายงานโดยท่านอัตติรมิซีย์, หะดีษลำดับที่ 3789)
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าเช่นกันว่า
“ขอสาบานด้วยผู้ที่ชิวิตฉันอยู่ในอำนาจของพระองค์ พวกท่านจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านจะไม่มีศรัทธาอย่างแท้จริง จนกว่าพวกท่านจะมีความรักต่อกัน เอาไหม ฉันจะบอกสิ่งหนึ่งที่พวกท่านปฏิบัติแล้ว พวกท่านจะรักกัน นั่นคือ พวกท่านต้องให้สะลามต่อกัน” (รายงานโดยมุสลิม, หะดีษลำดับที่ 54)
ดังนั้นการแสดงความรักเป็นพิเศษในวันวาเลนไทน์ จึงเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกและเป็นการให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่นักบวชที่มีนามว่า “วาเลนไทน์” ซึ่งดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำที่อยู่บนหลักการของอิสลาม
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
“ผู้ใดเลียนแบบชนกลุ่มหนึ่ง เขาย่อมเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา” (รายงานโดยอะบูดาวูด, หะดีษลำดับที่ 4031)
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดที่อุตริกรรมขึ้นมาใหม่ในการงานของเรานี้กับสิ่งที่ไม่มี (รากฐาน) มาจากมันย่อมถูกปฏิเสธ” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, หะดีษลำดับที่ 2550)
เพราะฉะนั้น การปลูกฝังความรักในอัลเลาะฮ์และร่อซูลของพระองค์ และการแสดงความรักต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เป็นฟัรฎูในทุกเวลาและวโรกาส ไม่ใช่มาจำกัดความรักเพียงแค่วันวาเลนไทน์